Contact

เก็บเรื่องราวเอามาแบ่งปัน คุยกันแบบกันเอง Contact me: thoshiro @live.com or thoshiro007 @gmail.com

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คดีพิศวง ตอน ใครฆ่าดาบยิ้ม ไอ้ปื๊ด ????

ด.ต.สุวิชัย รอดวิมุต หรือ “ดาบยิ้ม” ตำรวจกองปราบปราม ถูกยิงด้วยอาวุธปืน 6.35 มม.เสียชีวิตภายในคลับทเวนตี้ ผับ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถ.รัชดาภิเษก เมื่อกลางดึกของวันที่ 29 ต.ค.2544
      
       “คดีฆ่าดาบยิ้ม” ถือเป็นคดีสะเทือนขวัญที่ถูกสังคมจับจ้องมากที่สุดในขณะนั้น เพราะผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ และตกเป็นผู้ต้องหาลั่นไกฆ่า คือ “ดวงเฉลิม อยู่บำรุง” ลูกชายคนเล็กของ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” นักการเมืองคนดังย่านฝั่งธน หลังเกิดเหตุ “ดวงเฉลิม” หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แม้ตำรวจจะระดมกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักย่านบางบอน และบ้านนักการเมืองท้องถิ่น ที่คาดว่า “ดวงเฉลิม” จะไปหลบกบดานอยู่หลายรอบแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่พบแม้แต่เงา
      
       แต่ด้วยพฤติการณ์หลบหนี และภาพลักษณ์ของ “ครอบครัวอยู่บำรุง” ในขณะนั้น ทำให้ “ดวงเฉลิม” ตกเป็นจำเลยของสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ขณะเดียวกัน คะแนนความสงสารถูกเทไปให้กับ นางสุพัตรา และ ด.ช.กิติศักดิ์ รอดวิมุต ภรรยาหม้าย และลูกชายดาบยิ้ม ซึ่งต้องขาดเสาหลักของครอบครัว
      
       ฝ่าย “ยอดคุณพ่อ” อย่าง ร.ต.อ.เฉลิม ก็ออกหน้าปกป้องลูกชายแบบเต็มตัว ทั้งยืนยันนั่งยันและนอนยันทุกวันว่า “ดวงเฉลิม” ไม่ได้หนีไปไหนแค่หลบไปตั้งตัวเพราะกลัวจะไม่ปลอดภัย ส่วนคนที่ยิงดาบยิ้มตาย คือ “ไอ้ปื๊ด” คนสนิทผู้ติดตามลูกชาย แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่ได้ให้ความสนใจนำมาเป็นสาระสำคัญของคดี
      
       “ดวงเฉลิม” หายตัวไปกว่าครึ่งปีก่อนจะไปโผล่เข้ามอบตัวที่สถานทูตไทยในมาเลเซีย เมื่อเช้าวันที่ 2 พ.ค.2545 ก่อนถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดี ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหา “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่ไม่มีการตั้งข้อหาร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงาน” ทำให้พนักงานสอบสวนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในวงการตำรวจด้วยกันมากพอสมควร หลังจากนั้น พนักงานอัยการก็ส่งฟ้อง “ดวงเฉลิม” กับพวกอีก 2 คน ประกอบด้วยนายกฤษพัฒน์ จาตุรานนท์ และนายสุพจน์ แสงอนันต์ เป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น และร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ส่วนนายวันเฉลิม อยู่บำรุง พี่ชายคนกลาง และพ.ต.ต.ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ อดีตสารวัตร 191 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย และช่วยเหลือให้ผู้กระทำผิดมิให้ถูกจับกุม
      
       ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม ก็ไม่ยอมละความพยายามง่ายๆ นำตัว “ไอ้ปื๊ด” หรือนายเฉลิมชนม์ บุริสมัย เข้ามอบตัวอีกรอบ แต่ก็ถูกเมินอีกตามเคย เนื่องจากในทางการสืบสวนของตำรวจขณะนั้น เห็นว่า “ไอ้ปื๊ด” ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องกับคดี
      
       ต่อมาคดี “ฆ่าดาบยิ้ม” ก็เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล โดยเริ่มสืบพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2545 โดยพนักงานอัยการนำนางสุพัตรา ขึ้นเบิกความเป็นพยานโจทก์ปากแรก ต่อด้วยพยานสำคัญอีกหลายปากไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.สุทิน ทรัพย์พ่วง รอง ผกก.1 ป. ,ร.ต.อ.วิวัฒน์ บุญชัยศรี รอง สว.ผ.5 กก.2 ป., ส.ต.ต.ทศพล อ่อนพันธุ์ ตำรวจประจำกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191), น.ส.นฤมล วงศ์เสือ, นายสมภพ สุภิษะ, น.ส.ทิฐินันท์ ฤทธิวัฒนะพงศ์ ซึ่งล้วนแต่อยู่ในคลับทเวนตี้ ผับ ขณะเกิดเหตุ ทำให้ผู้สันทัดกรณีในวงการกฎหมายหลายคนเชื่อกันว่างานนี้ “ดวงเฉลิม” รอดยาก
      
       ส่วนแนวทางการการต่อสู้คดีของทีมทนายความจำเลย ที่นำโดยทนายมือดี “สมหมาย กู้ทรัพย์” มุ่งนำสืบพยานพุ่งเป้าไปที่ประเด็นแสงไฟในคลับทเวนตี้ คืนเกิดเหตุ เพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “ดวงเฉลิม” เป็นผู้ลั่นไกยิงดาบยิ้ม นอกจากนี้ยังมีพยานปากสำคัญอย่าง พล.ต.ต.วิชิต สมาธิวัฒน์ ผบก.นต.แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ เบิกความหักล้างพยานโจทก์ในประเด็นวิถีกระสุน เนื่องจากบาดแผลจากหน้าผากด้านขวา ลงไปทะลุท้ายทอยด้านซ้าย เป็นไปได้ยากที่ “ดวงเฉลิม” จะยืนประจันหน้ากับ “ดาบยิ้ม” ขณะลั่นไกสังหารตามคำให้การของพยานโจทก์
      
       สุดท้าย “ศาลอาญา” พิจารณาพยานหลักฐานนำสืบทั้งสองฝ่ายแล้วมีคำพิพากษายกฟ้อง!?! นายกฤษพัฒน์ จาตุรานนท์ นายสุพจน์ แสงอนันต์ และนายดวงเฉลิม อยู่บำรุง เนื่องจากพยานโจทก์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญอย่างสิ้นเชิงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่าจำเลยทั้ง 3 คน ร่วมกันฆ่า ด.ต.สุวิชัย อีกทั้งผลการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ก็ไม่สามารถทำให้ศาลเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยได้ว่าจำเลยที่ 5 คือ นายดวงเฉลิม อยู่บำรุง เป็นคนยิงผู้ตายจนเสียชีวิต จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
      
       คำพิพากษา “ยกฟ้องดวงเฉลิม” ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย เพราะสังคมได้พิพากษาไปแล้วว่า “ดวงเฉลิม” คือ “ฆาตกร” มิหนำซ้ำต่อมาพนักงานอัยการมีความเห็นไม่สมควรยื่นอุทธรณ์ จำเลยทั้ง 5 โดยให้เหตุผลว่า ที่ศาลชั้นต้นอ้างไว้ในคำพิพากษามีความสมเหตุสมผลแล้ว โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับผลการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เรื่องวิถีกระสุนและระยะห่างระหว่าง ผู้ตายกับผู้ยิงที่จะต้องเป็นลักษณะการกดปากกระบอกปืนประชิด ซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงได้ เช่นเดียวกับนางสุพัตรา ภรรยาหม้ายของดาบยิ้มที่ยอมถอยไม่ยื่นอุทธรณ์เช่นกันทำให้คดีถูกปิดลงแค่ในศาลชั้นต้นเท่านั้น
      
       ย้อนกลับมาดูชีวิตของครอบครัวเหยื่อสังหาร หลังเวลาผ่านไป 6 ปี “สุพัตรา รอดวิมุต” เผยว่าเธอและลูกชาย ยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านพักย่านแหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เมื่อขาดเสาหลักของครอบครัวไป เธอกับลูกชายก็ต้องเหนื่อยกันมากขึ้น โดยเธอได้รวบรวมเงินช่วยเหลือและเงินบริจาคตอนจัดงานศพ “ดาบยิ้ม” และเงินเก็บส่วนตัวได้ก้อนหนึ่ง นำไปซื้อรถบรรทุก 10 ล้อได้ 1 คัน เอาไปฝากวิ่งขนส่งร่วมกับบริษัท ดาริกาทรานสปอร์ท ของเพื่อนสนิทเก็บรายได้จากค่าเช่ามาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว เมื่อรวมกับเงินบำนาญของดาบยิ้มอีกจำนวนหนึ่งก็พอจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก ส่วนลูกชายตอนนี้กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาจักษุแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี ชีวิตครอบครัวขณะนี้ถือว่ามีความสุขตามอัตภาพ และไม่คิดจะกลับไปทวงถามหาความเป็นธรรมจากใครอีก
      
       คดี “ฆ่าดาบยิ้ม” ถือเป็นคดีสะเทือนขวัญ ที่มีการฆ่ากันจริงๆ ตายกันจริงๆ แต่กลับไม่ได้ “ฆาตกรตัวจริง” มาลงโทษ ถึงวันนี้เวลาผ่านมากว่า 6 ปีแล้ว “ไอ้ปื๊ด” ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อ้างว่าเป็นมือปืนตัวจริงตอนนี้อยู่ที่ไหน?! มีใครสนใจจะนำตัวมาดำเนินคดีหรือไม่ ?! หรือเป็นแค่ตัวละครที่ ร.ต.อ.เฉลิม อุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อแก้ข้อกล่าวหาให้ลูกชาย และสุดท้าย การตาย(ฟรี) ของ “ดาบยิ้ม” ก็เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า บางครั้ง “กระบวนการยุติธรรม” ก็ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกๆ คนได้...
       
 หมายเหตุ-ข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น